เพาะปลาทอง



   บทความนี้เหมาะสำหรับมือใหม่  ที่สนใจเพาะพันธุ์ปลาทองด้วยตัวเอง  แต่กว่าจะได้ลูกปลามานั้น ต้องทำอย่างไร ต้องเตรียมตัวเตรียมใจกับอะไรบ้าง เราต้องคิดให้ดี เพราะมีหลายครั้งเหมือนกันที่พวกเราไม่อยากจะทำการผสมพันธุ์ปลา เหตุผลก็เพราะ

1. เพาะออกมาแล้วไม่มีที่เลี้ยงการรีดไข่ปลาแต่ละครั้งนั้น  แม่ปลาที่สมบูรณ์จะให้ลูกไม่ต่ำกว่า 2000 – 4000  ตัว  ฉะนั้นต้องแน่ใจแล้วว่าเรามีที่เลี้ยงเพียงพอกับการอนุบาลต่อไปหรือไม่
2. การอนุบาลลูกปลานั้นต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างมากเพราะถ้าขาดตกบกพร่องไปซักขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตในอนาคตของลูกปลาได้  ทั้งอาหารที่ต้องให้อย่างสม่ำเสมอและน้ำต้องคอยเปลี่ยนถ่ายให้สะอาดอยู่ตลอดเวลา
3. ลูกปลาที่ได้นั้นต้องมีการคัดเลือกเพื่อให้ได้ตัวที่ตรงตามมาตรฐานยิ่งปลาที่มีระดับมาตรฐานสูงอย่างรันชูหรือโตซากิ้นนั้นแล้ว  จาก 3-4 พันตัว อาจเหลือไม่ถึง 100 ตัว  หรือไม่กี่สิบตัว  แล้วตัวที่ถูกคัดทิ้งล่ะ!!! คุณทำใจที่จะทิ้งได้หรือไม่ หรือปลาคัดทิ้งพวกนั้นคุณจะทำอย่างไรกับมัน  หากคุณคิดว่า..ไม่เป็นไรฉันจะเลี้ยงเองไว้ทั้งหมด  ก็ให้กลับไปดูข้อที่ 1 และ 2
เมื่อตัดสินใจได้แล้ว...ว่าพร้อมที่จะต้องรับมือกับมัน  ก็มาเริ่มกันเลยค่ะ  กับการเพาะพันธุ์ปลาทองสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้

สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนผสมพันธุ์
1. พ่อ-แม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ ทางที่ดีควรมีตัวเมีย 1 ตัวผู้ 2  เพราะไข่ปลาตัวเมียที่สมบูรณ์นั้นมีมาก  อาจทำให้น้ำเชื้อตัวผู้แค่ 1 ตัว นั้นไม่เพียงพอกับไข่ปลาทั้งหมดได้
2. กาละมังขาวซัก 2 – 3 ใบ
3. อ่างหรือบ่อใส่น้ำสะอาดเอาไว้  และต้องมีขนาดใหญ่พอสมควรเพื่อวางกาละมังขาว
เมื่อตื่นเช้ามาพบว่าปลาตัวผู้เริ่มไล่ตอดปลาตัวเมียแล้ว  ให้ลองบีบท้องตัวเมียเบาๆ ว่ามีไข่หลุดออกมาหรือไม่ หากมีไข่คุณก็ต้องเป็นคุณหมอคอยผสมพันธุ์ในหลอดแก้ว เอ้ย..ในกาละมังซะแล้วตอนนี้  เมื่อแปลงร่างเป็นคุณหมอสูติแล้วเราก็เริ่มทำการผสมพันธุ์กันเลย
4. ออกซิเจน ที่พอเพียงสำหรับ 5-6 หัวทรายขึ้นไป
5. ไข่อาร์ทีเมีย ลูกไรแดง โรติเฟอร์ หนอนจิ๋วหรืออาหารสดที่จะต้องนำมาอนุบาลลูกปลา

 ขั้นตอนการผสมพันธุ์ (ขั้นตอนนี้แบ่งออกเป็น การผสมพันธุ์โดยธรรมชาติและการผสมพันธุ์เทียม)








การผสมพันธุ์แบบธรรมชาติ
การผสมพันธุ์แบบธรรมชาติก็คือ การที่เราปล่อยให้ปลาที่เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ได้ผสมพันธุ์กันเอง โดยตัวผู้จะไล่ตอดตัวเมียเพื่อให้ไข่หลุดออกมาจากท้องตัวเมีย แล้วทำการฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมไข่ที่หลุดออกมา ทำให้ไข่เกิดการปฏิสนธิกันขึ้น
ควรปล่อยปลาลงในบ่อผสมพันธุ์ที่มีพันธุ์ไม้น้ำ เช่น สาหร่าย หรืออาจจะใช้เชือกฟางฉีกเป็นฝอยเพื่อให้ไข่ปลาเกาะติด ที่ต้องนำสาหร่ายหรือเชือกฟางใส่ลงไปด้วยนั้นก็เพราะหาที่หลบซ่อนให้ไข่ปลานั่นเอง เพราะสาหร่ายหรือเชือกฟางสามารถป้องกันการกินไข่ของพ่อแม่ปลาทองได้ เพราะปลาทองจะเก็บกินไข่ที่ตกอยู่ที่พื้นหรือที่โล่งจนหมด การผสมพันธุ์แบบนี้จะขอกล่าวถึงเพียงแค่นี้ เพราะเกือบจะไม่ต้องทำอะไรเลยให้เค้าเป็นไปตามธรรมชาติ โดยซักตี 3 ตี 4 เค้าจะเริ่มไล่กันแล้ว พอเช้ามาเราก็ทำการแยกพ่อแม่ปลาออกเท่านั้นเอง
 การผสมพันธุ์เทียม
การผสมพันธุ์เทียมก็คือ การนำพ่อ-แม่พันธุ์มารีดไข่ โดยสังเกตดูท้องตัวเมียจะป่องๆ แสดงว่าตัวเมียเริ่มไข่แล้ว หากไข่สุกเต็มที่ ตัวเมียจะขับเมือกคาวๆ ออกมาพร้อมไข่ ตอนนี้ปลาตัวผู้จะคอยไล่ตอดตัวเมียทั้งคืนจนถึงพรุ่งนี้เช้า พอเราสังเกตเช่นนี้แล้ว ก็รีบหาอุปกรณ์มาเตรียมพร้อมไว้สำหรับเป็นหมอตำแยดีกว่า...แนะนำว่าให้ทำช่วง ตี 5 - 6 โมงเช้า เป็นช่วงอากาศที่กำลังพอดีไม่ร้อนด้วยเป็นผลดีกับไข่ปลาค่ะ
1. นำกาละมังขาวใส่น้ำสะอาด(ปราศจากคลอรีน) มาเตรียมไว้เพื่อรีดไข่ปลา
2. นำแม่พันธุ์มาอยู่ในกาละมัง พยายามจับเบาๆ อย่าให้มันตกใจเพราะแค่มันสบัดตัวไข่ก็ออกมาเป็นร้อยแล้ว
3. จากนั้นนำพ่อพันธุ์มาใส่รวมกัน ให้อยู่ภายในกาละมังซักพัก พอปลาหายตื่นตกใจค่อยทำการรีด
4. ทำการรีดไข่ปลา  โดยปกติแล้วน้ำเชื้อตัวผู้จะต้องออกแรงรีดเยอะกว่าตัวเมีย  เพราะไข่ตัวเมียแค่ปลาสบัดตัวก็หลุดออกมาแล้ว  เราจึงขอแนะนำว่าถ้าท่านถนัดข้างขวาก็ให้จับตัวผู้รีดที่มือขวา  แล้วตัวเมียไว้ที่มือซ้าย
5. การรีดไข่ต้องมีเทคนิค ขณะรีด...ต้องวนมือเป็นวงกลมตามกาละมังไปด้วย  เหตุเพราะอยากให้ไข่ที่เกาะติดกาละมังกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อเปอร์เซนต์การฟักที่สูงขึ้น  จากประสบการณ์พบว่า ไข่ที่กระจุกตัวกันอยู่ จะเกิดราและทำให้ไข่ที่กระจุกกันอยู่ตรงบริเวณรอบๆ นั้นเสียทั้งหมด
6. จากนั้นทิ้งไว้ 10-15 นาที  จึงนำกาละมังไปล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง  เราจะพบไข่ปลาสีเหลืองใสติดหนึบอยู่ที่ก้นกาละมัง
7. นำกาละมังไปแช่ไว้ในอ่างแล้วเปิดอ๊อกให้แรง  เพื่อให้ออกซิเจนเพียงพอสำหรับไข่ที่กำลังจะฟัก



ต่อมาไข่ปลาจะมีจุดสีดำขึ้น  หมายถึงการปฏิสนธิที่สมบูรณ์มีสิ่งมีชีวิตอยู่ภายในไข่  หากไข่นั้นมีสีขาวขุ่น แสดงว่า "ไข่ฝ่อ" ซึ่งภายในนั้นไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ สาเหตุที่ไข่ฝ่ออาจเกิดจากน้ำเชื้อจากตัวผู้ไม่แข็งแรงและน้ำที่เราใช้อาจไม่สะอาดพอ เป็นเหตุทำให้เกิดราและถ้าไข่ขาวขุ่นเป็นจำนวนมากอาจทำให้ราขยายตัว  ซึ่งทำให้ไข่ใกล้เคียงกันนั้นเสียไปด้วย  หลังจากนั้นอีกประมาณ 3 -4 วัน  ลูกปลาตัวน้อยก็จะเริ่มดีดตัวออกมาจากไข่  ลูกปลาจะดีดตัวออกมาเร็วหรือช้า  ก็ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิในน้ำด้วย  หากอุณหภูมิค่อนข้างเย็นลูกปลาก็จะออกมาช้าซึ่งเป็นผลดี  เพราะการที่ลูกปลาอยู่ในไข่นานเท่าไหร่ก็จะทำให้การพัฒนาเป็นตัวสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น  ซึ่งประเทศไทยเรานั้นเป็นเมืองร้อน  จึงได้มีการนำชิลเลอร์มาใช้เพื่อรักษาอุณหภูมิน้ำให้เย็นระหว่างฟักไข่ปลา  เพื่อต้องการที่จะให้ลูกปลาที่ออกมาสมบูรณ์ที่สุด 

การอนุบาลลูกปลา
1.เมื่อลูกปลาเริ่มดีดออกมาจากไข่แล้วให้เบาอ๊อกลง  เพราะลูกปลามีความเปราะบางมาก  หากใช้ออกซิเจนแรงอาจทำให้ลูกปลาได้รับการกระทบกระเทือนอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตได้ จากนั้นเอากาละมังที่มีไข่ที่ยังไม่ออกทิ้ง เพราะลูกปลาที่ยังไม่สามารถออกมาจากไข่ได้นั้น จะเป็นลูกปลาที่อ่อนแอและเล็กแกรน เมื่อลูกปลาออกมา 2-3 วันเรายังไม่ต้องให้อาหาร  เพราะลูกปลาจะยังมีถุงอาหารติดอยู่ที่ท้อง  ให้สังเกตดูถุงอาหารนั้นถ้ายุบตัวลงและลูกปลาเริ่มว่ายออกหาอาหารแล้ว  เราค่อยเริ่มทยอยให้อาหาร
2.สำหรับอาหารลูกปลาระยะนี้  ต้องใช้อาหารที่มีขนาดเล็กมาก เช่น อาร์ทีเมียเกิดใหม่  ลูกไรแดง หรือตอนนี้นิยมใช้หนอนจิ๋ว  เพราะสะดวกและง่ายต่อการเพาะเลี้ยง  สำหรับหนอนจิ๋วไม่ควรให้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน  เพราะมีไขมันสูงไม่เหมาะสำหรับช่วงเวลาที่ลูกปลาต้องการโปรตีนในการเจริญเติบโต  ***ระยะนี้ไม่ควรใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปและไม่ควรให้อาหารมากเกินไป  เพราะอาจทำให้น้ำเน่าเสียได้ง่าย
3.หากจะใช้อาร์ทีเมียเป็นอาหารสำหรับลูกปลา  ควรเริ่มตีอาร์ทีเมียตั้งแต่ลูกปลาดีดเป็นตัว  เพราะการตีอาร์ทีเมียจะใช้เวลา 1 – 2 วันแล้วแต่อุณหภูมิตอนนั้น  หากร้อนก็จะขึ้นเร็วกว่าปกติ  สำหรับการตีอาร์ทีเมียจะไม่ขอพูดถึงในบทความนี้ สามารถหาอ่านได้ในเว็บนี้ค่ะ มีทั้งในเว็บบอร์ดและบทความที่เกี่ยวข้องกับอาร์ทีเมีย  ส่วนไรแดงต้องทำความสะอาดก่อนให้ลูกปลา  เพราะที่มาของไรแดงค่อนข้างสกปรกนิดนึงค่ะ ลูกปลาอาจติดเชื้อโรคได้


      4.คอยให้อาหารลูกปลาเป็นระยะๆ อย่างน้อยแล้ว วันละ 4 – 6 ครั้งต่อวัน  ให้อาหารแต่พอเพียงดูว่าปลากินหมดภายใน 15  นาที  ไม่ต้องให้จน                        เหลือกลัวปลากินไม่อิ่ม  เพราะจะทำให้น้ำเน่าเสีย  ส่งผลให้ลูกปลาที่อ่อนแออยู่แล้วตายลง  สังเกตดูเวลาลูกปลาหิว – ลูกปลาอิ่ม  หากลูกปลาเริ่มหิวจะ  ว่ายไปมาอย่างรวดเร็วเวลาเราเดินผ่าน  และถ้าลูกปลาอิ่ม  ลูกปลาจะลอยทิ้งตัวอยู่นิ่งๆ ท้องจะแดงและโตเต็มไปด้วยอาร์ทีเมียหรือไรแดงที่ให้ไป ทเราไม่ต้องตกใจหากท้องของลูกปลาบิดเบี้ยว อันเนื่องมาจากโครงสร้างภายในที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องรอจนกว่าลูกปลาจะกินอาหารเม็ดหรือกินหนอนแดงได้ ท้องของลูกปลาก็จะไม่บิดเบี้ยวตามที่เห็นดังภาพ




5.การเปลี่ยนน้ำให้ลูกปลา  เป็นสิ่งเสี่ยงที่สุดในการเสียชีวิตของลูกปลาแต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  ให้คอยดูดเศษอาหารที่เหลือตกค้าง หรือสิ่งสกปรกที่ตกตะกอนอยู่ออกให้หมดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย  แล้วค่อยๆ เติมน้ำทีละน้อยๆ ลงไปจนเต็มเหมือนเดิม  ขั้นตอนนี้ต้องทำอย่างพิถีพิถันซักนิด  เพราะหากลูกปลาเกิดช็อคน้ำจะทยอยตายกันหมดทั้งอ่าง  ทั้งนี้น้ำที่ใช้ต้องแน่ใจว่าเป็นน้ำที่ปราศจากคลอรีน
6.เมื่อลูกปลามีขนาดโตขึ้นมาแล้ว  เราจึงจะสามารถเลี้ยงดูด้วยอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารทั่วไปได้  ไม่ว่าจะเป็นอาหารเม็ด  หนอนแดง  หรืออาหารเสริมอื่นๆ 


  การคัดลูกปลา
1.เมื่อลูกปลามีอายุได้ 15 วัน  ก็เริ่มแข็งแรงและเริ่มเห็นลักษณะชัดเจนขึ้นพอที่จะสามารถจำแนกปลาออกไปเลี้ยงแยกในอ่างแต่ละอ่างได้แล้ว  โดยอ่างแต่ละอ่างควรคัดปลาลงอ่างประมาณ 50 ตัว/ 1 อ่าง  (ขนาดอ่าง 90 x 100 x 25 ซม.)  ส่วนปลาที่เหลือเราก็คัดทิ้งหรือทำเป็นปลาเหยื่อหรือหากมีที่เลี้ยงเพียงพอก็เลี้ยงไว้ก็ได้ค่ะ แต่ส่วนมากผู้เพาะปลาจะทำการคัดทิ้งซะมากกว่า   ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ทำใจยากมากที่สุด
2.เราจะทยอยคัดปลาไปเรื่อยๆ ที่สังเกตง่ายๆ เป็นอันดับแรกที่ต้องคัดออกคือ  ปลาพิการ ปลาพิการจะมีลักษณะต่างๆ เช่น  หางปลาทู ตาบอด ครีบไม่ครบ หากเป็นรันชูหรือสิงห์ก็จะไม่มีกระโดง  ส่วนอันดับต่อไปคือ  ปลาที่แคระแกรน  ปลาที่ลำตัวคดงอ  หางลีบ  และต่อไปเป็นลักษณะที่ต้องใช้ความชำนาญบวกด้วยประสบการณ์เป็นพิเศษในการคัด  คือการดูลักษณะที่ได้มาตรฐาน  หางต้องกาง ไม่ว่าจะเป็นหางสี่  หางสาม  ต้องมีลักษณะการว่ายที่ดี  มีการเจริญเติบโตที่ดี  สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยประสบการณ์ถึงจะมองเห็นอนาคตของลูกปลาแต่ละตัวได้  ซึ่งลูกปลาจะเจริญเติบโตและสวยงามเพียงใดนั้น  ก็ต้องมีการเลี้ยงดูและการให้อาหารที่ดีด้วย 















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น